วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ซามูไร สปอร์ต

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10958

สปอร์ตส์ จัมบาระ "นวตกรรมกีฬา" "ญี่ปุ่น" ส่งออก-"ไทย"นำเข้า


สุทธาสินี จิตรกรรมไทย - เรื่อง พัทรยุทธ ฟักผล - ภาพ




บรรยากาศการแข่งขันชิงแชมป์โลก (ภาพจากสมาคมสปอร์ตส์ จัมบาระ นานาชาติ)

ฮาจิเมะ!!

สิ้นเสียงของกรรมการบอกให้เริ่มต้นการแข่งขัน ทั้งสองฝ่ายก็จดๆจ้องๆ หาจังหวะเข้าโจมตี สักพักฝ่ายหนึ่งก็ฉวยโอกาสเหมาะแทงดาบสั้นเข้ากลางลำตัวฝ่ายตรงข้าม

ไม่มีเลือดไหลนองหรือทรุดฮวบลงไปกองกับพื้นด้วยความเจ็บปวด...เพราะนี่คือ สปอร์ตส์ จัมบาระ

สปอร์ตส์ จัมบาระ (Sports Chanbara) เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง มีต้นกำเนิดอยู่ที่ญี่ปุ่น-ดินแดนอาทิตย์อุทัย เดิมเรียกว่า ซามูไร สปอร์ต เป็นกีฬาฟันดาบ มีรากเหง้ามาจากการฟันดาบของซามูไร รู้ผลแพ้ชนะในการตัดสินเพียงครั้งเดียวคล้ายการต่อสู้ในวิถีซามูไร จึงได้ชื่อว่าเป็นกีฬาซามูไร

ต่อมาดาบไม่ได้เป็นอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวของซามูไร สปอร์ต อีกต่อไป แต่มีอย่างอื่นเข้ามาเสริม ประกอบกับมีการพัฒนากฎกติกา และพัฒนาประเภทของการแข่งขัน

จาก "ซามูไร สปอร์ต" จึงกลายเป็น "สปอร์ตส์ จัมบาระ"

"ที่เรียกว่าซามูไร สปอร์ต เพราะเริ่มจากดาบอย่างเดียวก่อน พอมีอุปกรณ์หลายอย่างจึงเรียกว่าสปอร์ตส์ จัมบาระ แปลว่า กีฬาที่มีการผสมผสานกันหลายอุปกรณ์

"แต่จะแปลว่าเป็นกีฬาที่ผสานการใช้ร่างกาย อาวุธ และจิตใจ เข้าเป็นหนึ่งเดียวก็ได้" ดร.ดัชกรณ์ ตันเจริญ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น อดีตนักกีฬาฟันดาบทีมชาติไทย เริ่มต้นบอกเล่า

ครั้งที่ดัชกรณ์เป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าเป็นสมาชิกชมรมฟันดาบ ฝึกทักษะการฟันดาบเรื่อยมาจนเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยและเป็นนักกีฬาทีมชาติ

เมื่อเรียนจบและได้ทุนไปศึกษาปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น ทองหล่อ ไตรรัตน์ ปรมาจารย์ดาบไทย อาจารย์ดาบที่ดัชกรณ์เคารพนับถือก็แนะนำให้ไปลองเล่นสปอร์ตส์ จัมบาระ ที่นั่น เพราะเป็นศิลปะการป้องกันตัวคล้ายดาบไทย

พอไปถึงญี่ปุ่นก็พบว่ามีสำนักดาบที่สอนสปอร์ตส์ จัมบาระ อยู่มากมาย แต่ในที่สุดดัชกรณ์เลือกเข้าไปขอฝึกที่สำนักดาบ "อาซาบุ" ในกรุงโตเกียว

"ฝึกได้วันเดียวเขาก็งงว่า คนไทยไปฝึกทักษะดาบมาจากไหน เลยบอกเขาไปว่าเคยเล่นดาบไทยมาก่อน" ดัชกรณ์บอกยิ้มๆ

ตอนนี้ดัชกรณ์เป็นนักกีฬาสปอร์ตส์ จัมบาระ สายดำ ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ฝึกสอนกีฬาชนิดนี้แล้วเรียบร้อย

อุปกรณ์ที่ใช้เล่นสปอร์ตส์ จัมบาระ มีอย่าง เมน (หน้ากาก) เอาไว้ป้องกันศีรษะและใบหน้า ทันโตะ (มีดสั้น) ยาว 45 เซนติเมตร โคะดาจิ (ดาบสั้น) ยาว 60 เซนติเมตร โชเคน (ดาบยาว) ยาว 100 เซนติเมตร โจ (พลองสั้น) ยาว 140 เซนติเมตร ยาริ (ลักษณะคล้ายหอกหรือง้าว) ยาว 200 เซนติเมตร โบ (พลองยาว) ยาว 200 เซนติเมตร และ ทาเทะ (โล่) ไว้ใช้คู่กับโคะดาจิ

ฝึกซ้อมสปอร์ตส์ จัมบาระ ที่สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น



ผู้เล่นเกือบทั้งหมดจะใช้อุปกรณ์แบบ "แอร์-ซอฟท์" หรือแบบสูบลม จะใช้งานก็นำเครื่องสูบลมเติมลมเข้าไปในอุปกรณ์ พอไม่ใช้ก็ปล่อยลมออก ทำให้มีน้ำหนักเบา

อุปกรณ์ที่เป็น "แอร์-ซอฟท์" นี้เอง ทำให้กีฬาสปอร์ตส์ จัมบาระ มีความปลอดภัยสูง ไม่เจ็บเมื่อโดนตัว

สนนราคาอุปกรณ์แต่ละชิ้น คิดเป็นเงินไทยแล้วอยู่ที่หลักพัน อย่าง "ทันโตะ" ราคาราว 2,500 บาท "เมน" ราว 3,000-6,000 บาท "โชเคน" 3,000 บาท "ยาริ" 6,000 บาท "โบ" 7,000 กว่าบาท

"คนญี่ปุ่นเล่นกีฬาสปอร์ตส์ จัมบาระ กันมาก มีทุกเพศทุกวัยตั้งแต่ไม่กี่ขวบจนถึงผู้ใหญ่อายุ 70 กว่าปี เพราะเป็นกีฬาที่ปลอดภัย มีหน้ากากกับดาบก็เล่นได้แล้ว

"ส่วนชุดก็ตามสบาย แต่ส่วนมากจะเน้นชุดที่สวมใส่ง่ายและสบายตัว อาจเป็นชุดวอร์มก็ได้ แต่ชุดที่เอาไว้ลงแข่งจะเป็นเสื้อแขนยาว มีเกราะฟองน้ำทับอีกชั้น กางเกงขายาว และบางคนอาจใส่ถุงมือป้องกันมือ" ดัชกรณ์เล่า แล้วบอกต่ออีกว่า

เหมือนกีฬาญี่ปุ่นประเภทอื่นที่แบ่งความสามารถออกเป็นระดับ ผู้เล่นสปอร์ตส์ จัมบาระ จะไต่จากระดับ 10 ขึ้นไปถึงระดับ 1 จากนั้นถึงสอบขึ้นเป็นสายดำ ไล่ตั้งแต่สายดำขั้น 1 จนถึงขั้น 7

ใครยังไม่มีพื้นฐานมาก่อนต้องเรียนเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย เดินหน้า ถอยหลัง การป้องกันตัวระยะดาบ เรียนวิธีการรับดาบหรือหลบดาบของฝ่ายตรงข้าม ผ่านพวกนี้ไปได้ถึงจะเริ่มฝึกเทคนิคการเล่น และอาจไปสอบเพื่อวัดระดับความสามารถ

"คนที่มีพื้นฐานการเล่นดาบไทยหรือดาบสากลมาก่อนจะเล่นกีฬานี้ได้ค่อนข้างคล่อง เพราะเรื่องระยะและจังหวะเป็นสิ่งสำคัญของทั้งดาบไทย ดาบสากล และสปอร์ตส์ จัมบาระ แต่คนที่ไม่มีพื้นฐานก็สามารถเล่นได้เหมือนกัน" ดัชกรณ์เพิ่มเติม

สปอร์ตส์ จัมบาระ สนุกไม่แพ้กีฬาประเภทอื่นเพราะแพ้-ชนะ ลุ้นกันได้ในเสี้ยววินาที!!

ดัชกรณ์เล่าถึงกฎกติกาของสปอร์ตส์ จัมบาระ ว่า ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4 คูณ 4 เมตร แต่ละฝ่ายใช้อุปกรณ์ชนิดเดียวกัน ถ้าฝ่ายไหนใช้อุปกรณ์แตะต้องตัวของอีกฝ่ายได้ก่อนแบบที่เห็นชัดเจน...ฝ่ายนั้นชนะ

(จากซ้าย) ทาเทะ, เมน, โคะดะจิ, โชเคน และ ยาริ



การแข่งขันสปอร์ตส์ จัมบาระจึงเป็นแบบ แต้มเดียวจบ

"กติกาคือแทงได้ ฟันได้ ใครโดนก่อนแพ้ เล่นกันแต้มเดียว แต่ถ้าสองข้างโดนพร้อมกันถือว่าตายคู่ จะตายคู่ได้ 2 ครั้ง ตายคู่ครั้งแรกถือว่าเสมอกัน หากตายคู่ซ้ำอีกถือว่าแพ้ทั้งคู่ ส่วนรอบชิงชนะเลิศจะใช้วิธีนับแต้ม 2 ใน 3

"การแข่งขันดูที่แต้มเป็นหลัก ไม่มีกำหนดเวลา เล่นกันไปเรื่อยๆ ส่วนมากเล่นไม่ยาว บางครั้งแค่ไม่กี่วินาทีก็แพ้ชนะกันแล้ว แต่มีบ้างที่เล่นเป็นสิบนาที

"ความสนุกของผู้เล่นจึงอยู่ตรงที่ต้องตื่นตัว มีสติและสมาธิตลอดเวลา ร่างกายและจิตใจต้องสัมพันธ์กัน" ดัชกรณ์เล่า

สปอร์ตส์ จัมบาระ เป็นกีฬาที่แพร่หลายมากในญี่ปุ่น การแข่งขันจึงมีหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นชิงแชมป์เขต ชิงแชมป์เมือง ชิงแชมป์ประเทศ จนถึงชิงแชมป์โลก ซึ่งอย่างหลังนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 33 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว มีราว 20 ประเทศเข้าร่วม อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส รัสเซีย ยูเครน ฯลฯ

การแข่งขันชิงแชมป์ทั่วไปจะมีข้อจำกัดอยู่อย่าง คือ หนึ่งคนสามารถลงได้ไม่เกิน 2 ชนิดอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่นหรือต่างชาติ

แต่ถ้าเป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลก คนญี่ปุ่นหนึ่งคนจะลงแข่งได้มากสุดไม่เกิน 2 ชนิดอุปกรณ์ ส่วนคนต่างชาติลงได้ทุกชนิดอุปกรณ์ เพื่อเป็นการเปิดกว้างให้มาลงแข่ง แต่ส่วนมากลงได้มากสุดก็ 3 ชนิดอุปกรณ์ เพราะบางครั้งเวลาในการแข่งขันเหลื่อมกันอยู่

ดัชกรณ์เคยลงแข่งขันชิงแชมป์รายการต่างๆ อย่าง ชิงแชมป์โตเกียวปี 2547 ได้เหรียญเงินมาครอง และลงแข่งขันชิงแชมป์โลกสปอร์ตส์ จัมบาระในปีเดียวกัน

พอถึงปี 2549 ก็ได้ที่ 3 ในการแข่งขันสปอร์ตส์ จัมบาระชิงแชมป์โลก ประเภทโชเคน (ดาบยาว) ส่วนการแข่งขันสปอร์ตส์ จัมบาระ ชิงแชมป์โลก ปีที่แล้ว ดัชกรณ์เข้ารอบ 8 คนสุดท้าย ประเภทโคะดาจิ (ดาบสั้น)

มาลองดูสถานการณ์สปอร์ตส์ จัมบาระ ในบ้านเรากันบ้าง

ดัชกรณ์บอกว่า กีฬานี้เข้ามาในประเทศไทยได้หลายปีแล้ว อาจเริ่มต้นจากชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบกีฬาประเภทนี้ พอมาอาศัยในเมืองไทยจึงสอนสปอร์ตส์ จัมบาระ ให้เด็กๆ ชาวญี่ปุ่นที่นี่

แต่สปอร์ตส์ จัมบาระ ก็ยังไม่ได้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง คนไทยยังรู้จักน้อยมาก และมีเล่นกันอยู่เพียงแค่หยิบมือ

สาเหตุมีหลายอย่าง อาจเพราะยังไม่คุ้นหูคุ้นตา ยังไม่รู้วิธีการเล่น หรือหากอยากเล่นก็ไม่รู้จะไปหาดูหรือหาฝึกจากที่ไหน

ทางที่จะทำให้เป็นที่รู้จักนั้น ดัชกรณ์บอกว่า ในเดือนเมษายนนี้จะมีการแข่งขันฟันดาบชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งในงานจะมีการสาธิตกีฬาสปอร์ตส์ จัมบาระ ให้ได้ชมกัน

และวางไว้ว่า พอถึงเดือนตุลาคมจะจัดการแข่งขันสปอร์ตส์ จัมบาระ ชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อคัดตัวนักกีฬาไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน ส่วนปีหน้าไทยค่อยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในระดับเอเชีย ปล่อยให้มาเลเซียเป็นเจ้าบ้านจัดการแข่งขันไปก่อนในปีนี้

ดัชกรณ์เล่าว่า แต่ละประเทศจะมีสมาคมที่เกี่ยวข้องหรือเป็นสมาคมสปอร์ตส์ จัมบาระ โดยตรง รับหน้าที่คัดตัวนักกีฬาไปแข่งขันชิงแชมป์โลก แต่ประเทศไทยยังไม่มีสมาคม คนไทยที่ไปแข่งจึงต้องใช้ประวัติที่เป็นแชมป์ฟันดาบไปแสดงให้ดู

"ถ้าการกีฬาแห่งประเทศไทยช่วยสนับสนุนกีฬาชนิดนี้จะเป็นการดีมาก และอยากให้มีการตั้งสมาคมสปอร์ตส์ จัมบาระ ในประเทศไทย เพราะจะได้คัดเลือกนักกีฬาไปแข่งขันในนามทีมชาติไทย สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ คนไทยเรามีความสามารถไม่แพ้ใครอยู่แล้ว

"อยากให้ทุกคนได้มาลองเล่น เพราะสปอร์ตส์ จัมบาระ เล่นไม่ยาก สนุก ทั้งยังช่วยฝึกจิตใจ ฝึกสมาธิ และฝึกการป้องกันตัว ซึ่งสามารถเอาสมาธิไปแข่งกีฬาหรือเอาไปเป็นฐานให้กับการทำอย่างอื่นได้" ดัชกรณ์ชวน

ใครอยากทำความรู้จักกับสปอร์ตส์ จัมบาระ ดัชกรณ์บอกว่า ไปได้เลยที่ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ถนนพัฒนาการ เพราะที่นี่มีชมรมศิลปะป้องกันตัวไทย-ญี่ปุ่น ฝึกทักษะไอคิโค ฝึกสปอร์ตส์ จัมบาระ ให้นักศึกษาของสถาบัน แต่หากคนนอกสนใจจะแวะเข้าไปพูดคุยหรือร่วมฝึกด้วยก็ยินดีอย่างยิ่ง

เป็นอีกชนิดกีฬาที่ "อิมพอร์ต" ตรงมาจากญี่ปุ่น ส่วนจะ เล่นง่าย-ไม่เจ็บตัว อย่างที่ว่ามาหรือเปล่า ต้องลองพิสูจน์กันดู


หน้า 20

ไม่มีความคิดเห็น: